Read this article in English (บทความนี้สามารถอ่านเป็นภาษาอังกฤษได้ที่นี): https://www.phakinee.com/lan-na-literature-and-script/
ผลงานลำดับที่ ๓ แห่ง Hamburger Thaiistik Studien นี้ จัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อเป็นเกียรติแก่อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย (พ.ศ. ๒๔๖๓ – พ.ศ. ๒๕๒๓) ปราชญ์แห่งล้านนา เนื่องในวาระครบรอบหนึ่งศตวรรษแห่งชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร. โฟลเกอร์ กราบอฟสกี้ แห่งภาควิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยฮัมบวร์ก ได้จัดทำและเผยแพร่ ตำราเรียนอักขระลานนาไทย ฉบับดั้งเดิม พ.ศ. ๒๕๑๘ พร้อมทั้งเพิ่มบทนำภาษาอังกฤษและภาษาไทย ซึ่งฉบับตีพิมพ์ใหม่นี้ ทำเป็นภาษาไทยและอักษรธรรมล้านนาตลอดทั้งเล่ม
อักษรธรรมล้านนา เป็นระบบการเขียนที่เคยใช้กันอย่างแพร่หลายในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย ลาว รัฐฉานของพม่า และสิบสองปันนา ทางตอนใต้ของมณฑลยูนนานของจีน ครั้งหนึ่ง อักษรธรรมล้านนาเคยถูกเกือบเลือนหายไปเนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรวมชาติ ในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ประกาศระงับใช้อักษรท้องถิ่นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ จนกระทั่งอักษรธรรมล้านนาค่อยๆ หมดความนิยมไปช่วงหนึ่งทศวรรษตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ แต่ ยังคงมีพระสงฆ์และครูบาอาจารย์ด้านภาษาศาสตร์ ที่สามารถอ่านอักษรธรรมล้านนาที่เกือบจะสูญหายไปนี้ อยู่บ้าง ที่นำมาปริวรรตใหม่เป็นอักษรไทยกลาง อีกทั้งเยาวชนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ก็เริ่มหันมาสนใจและศึกษาอักษรธรรมล้านนาด้วย
หนึ่งในบรรดาพระสงฆ์กับครูบาอาจารย์ที่ศึกษาอักษรธรรมล้านนาดังที่กล่าวมาแล้ว คือ อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๓ ณ บ้านสันมหาพน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นบุตรนายจันทร์ และนางจันทร์ทิพย์ ทั้งสองประกอบอาชีพทำนา มีพี่น้อง ทั้งหมด ๓ คน ได้สมรสกับนางสาวเรือนคำ กองมณี มีบุตรธิดา ๗ คน อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๒๓
อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ อายุได้ ๑๒ ปี และจำพรรษาที่วัด หลังจากสำเร็จขั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนประตูลี้ จังหวัดลำพูนแล้ว ได้ศึกษาต่อในระดับ มัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนวัดพระธาตุหริภุญไชย อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เมื่ออายุครบ ๒๑ ปี ก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุ อาจารย์สิงฆะเริ่มเรียนนักธรรมจนกระทั่งสำเร็จขั้นนักธรรมเอก สอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค-แลว จึง เดินทางมาศึกษาเปรียญธรรมต่อที่สำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร เมื่อสอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค แล้วก็เดินทางกลับไปที่จังหวัดลำพูนและศึกษาภาษาบาลีด้วยตนเอง โดยได้คิดค้นวิธีแต่งภาษาไทยเป็นภาษาบาลีให้ง่ายขึ้นโดยยังคงรักษาแบบแผนเดิมไว้ จนกระทั่งสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค อาจารย์สิงฆะลาสิกขาบทเมื่ออายุ ๒๕ ปี ลังจากเป็นครูแล้ว สามารถสอบผ่านประโยคครูประถม หลังจากเป็นครูประชาบาลแล้วก็ยังคงศึกษาภาษาบาลีด้วยตนเองเรื่อยมา
นอกจากความชำนาญทางภาษาบาลีแล้ว อาจารย์สิงฆะยังเรียนภาษาอังกฤษและอักษรธรรมล้านนาจากวรรณกรรมต่างๆ ศึกษาทำนองเทศน์มหาชาติ กัณฑ์มหาราช และกัณฑ์นคร ศึกษาการแต่งร่ายคำเวนทานจากภิกษุในจังหวัดลำพูน ศึกษาภาษาล้านนาโดยตรงจากอาจารย์และผู้เฒ่าผู้แก่หลายท่านในล้านนา และศึกษาการแต่งกวีนิพนธ์ด้วยฉันทลักษณ์ต่างๆ ของภาคกลาง (โคลง, ฉันท์, กาพย์, กลอน) และของล้านนา (โคลง, คร่าว, กาพย์, ซอ) ด้วยตนเอง
อาจารย์สิงฆะมีความเป็นครูอยู่ในสายเลือด ตั้งแต่ขณะยังดำรงสมณเพศ อาจารย์สิงฆะสอนภาษา ไทยให้แก่นักธรรมเอกและเปรียญธรรม หลังจากลาสิกขาบทก็ประกอบอาชีพครูสอนหนังสือ ได้เลื่อนวิทยฐานะเป็นผู้ตรวจการศึกษาอำเภอเมือง ผู้ช่วยศึกษาธิการ และเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนวัดสันริมปิง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ก่อนลาออกจากราชการเมื่ออายุ ๕๐ ปี
หลังจากนั้น อาจารย์สิงฆะยังคงศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ และสร้างผลงานด้านภาษาและวรรณกรรมล้านนาอย่างต่อเนื่อง ท่านใช้เวลาราว ๑๒ ชั่วโมง ต่อวัน ทำงานปริวรรตหนังสือใบลานที่เขียนเป็น ภาษาและตัวอักษรล้านนาเป็นภาษาไทยกลางเพื่อถ่ายทอดให้คนทั่วไปเข้าใจ ขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์พิเศษ วิชาภาษาและวรรณคดีล้านนาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และให้คำปรึกษาด้านภาษาล้านนา วรรณกรรมล้านนา และพระพุทธศาสนา แก่นักศึกษาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๗ ม.ค. ๒๕๒๐ นักวิชาการที่มีชื่อเสียงหลายท่าน ล้วนแล้วแต่เคยเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์สิงฆะทั้งสิ้น อาทิ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ประคอง นิมมานเหมินท์, ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี, ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ ดร. ฮารัลด์ ฮุนดิอุส (มหาวิทยาลัยพัสเซา), ศาสตราจารย์ ดร. โดนัลด์ เค. สแวร์เรอร์ (วิทยาลัยสวัธมัวร์) และ วิกโก บรุน (มหาวิทยาลัยโคเปนฮาเกน)
นอกเหนือจากงานศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ อาจารย์สิงฆะยังได้รับเชิญให้เป็นผู้นำพิธีการสำคัญต่างๆ ทั่วทั้งเขตภาคเหนือ เช่น งานบุญ งานบวช งานแต่งงาน และงานมงคลทั่วไป ทั้งยังให้ความรู้ด้านพุทธศาสนา ทำหน้าที่เป็นพิธีกรงานสำคัญ ตลอดจนให้คำแนะนำแก่กลุ่มเยาวชนยุวพุทธ ผู้ประกอบพิธีทางศาสนา และบุคคลทั่วไปที่ประสบปัญหาทั้งเรื่องครอบครัวและเรื่องชีวิต บทนำของหนังสือเล่มนี้ ได้รวบรวมรายชื่อผลงานของอาจารย์สิงฆะไว้ เช่น นิราศ (บทกวีเกี่ยวกับการเดินทาง) บันทึกสถานที่ที่อาจารย์สิงฆะได้ไปเยือน รวมทั้ง นิราศเมืองคีล เป็นเรื่องราวขณะที่ท่านเดินทางมาพำนักทางตอนเหนือของเยอรมนีเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อช่วยฮารัลด์ ฮุนดิอุส ทำงานวิจัยด้านวรรณกรรมล้านนา ผลงานชิ้นสำคัญอีกอย่างหนึ่งของอาจารย์สิงฆะ คือการสำรวจและคัดเลือกคัมภีร์ใบลานที่มีอยู่ในวัดต่างๆ ทั่วภาคเหนือ ด้วยความร่วมมือของสมาคมวิจัยแห่งเยอรมนี (Deutsche Forschungsgemeinschaft) และ ฮารัลด์ ฮุนดิอุส ระหว่างการสำรวจ ได้ค้นพบหนังสือใบลานหลายประเภท เช่น ประวัติศาสตร์ ตำนาน วรรณกรรมพุทธศาสนา วรรณกรรมคำสอน ตำราโหราศาสตร์ วรรณกรรมพิธีกรรม เป็นต้น แล้วดำเนินการถ่ายสำเนาด้วยไมโครฟิล์ม จึงถือว่าอาจารย์สิงฆะเป็นบุคคลคนแรกที่-ได้บเบิกการอนุรักษ์เอกสารตัวเขียนที่สำคัญของล้านนาไว้ให้เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวาง ยั่งยืน เป็นระบบ และใช้กันอย่างแพร่หลายเป็นเวลาหลายปีจึงมีการปรับเปลี่ยนจากไมโครฟิล์มเป็นระบบดิจิทัลในสมัยนี้
“ตำราเรียนอักขระลานนาไทย” เล่มนี้ อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ผู้เป็นนักปราชญ์ด้านภาษา วรรณกรรม และวัฒนธรรมล้านนา และเป็นอาจารย์สอนภาษาล้านนาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในช่วง พ.ศ. ๒๕๑๓ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้แต่งขึ้นและพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ นั้น อาจารย์สิงฆะทำต้นฉบับโดยใช้เครื่องพิมพ์ดีด พิมพ์เนื้อหาคำอธิบายเป็นภาษาไทยลงในกระดาษไข และเขียนอักขระตัวเมืองหรืออักษรธรรมล้านนาด้วยลายมือ แล้วอัดสำเนาเย็บเล่ม เป็นตำราที่นักเรียนนักศึกษาใช้เรียนสืบต่อกันมาหลายรุ่น อย่างไรก็ดี ตำราเล่มนี้ไม่ได้มีการพิมพ์เผยแพร่อีกเป็นระยะเวลานานกว่า ๔๐ ปี บรรดาทายาท และลูกศิษย์หลายคนมีความเห็นร่วมกันว่าสมควรจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ โดยยังคงรักษาเนื้อหาคำอธิบายไว้ตามเดิม สำหรับตัวอักษรธรรมล้านนานั้น ได้พิมพ์ขึ้นโดยเลือกใช้ฟ้อนท์อักษรล้านนาที่มีลักษณะใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด
สิงฆะ วรรณสัย
ตำราเรียนอักขระลานนาไทย บรรณาธิการ Volker Grabowsky
Singkha Wannasai: Learning Lan Na Script. Edited by Volker Grabowsky. Segnitz: Zenos Verlag 2019. Paperback, 208 pages, 29.3 x 21 cm, 500 g, ISBN 978-3-931018-43-6, 24.80 Euro.
Publishing information:
Please send your order to Zenos Verlag, Brückengasse 2, 97340 Segnitz, Germany by email: 2[at]zenos-verlag.de. All books are sent free of postage and packaging within Germany if ordered directly. Shipping abroad is possible with additional postage costs.
หนังสือมีจำหน่ายในประเทศไทยที่สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม: https://silkwormbooks.com/